วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

หมีขาวขั้วโลกเหนือและเพนกวินแห่งขั้วโลกใต้…ในชะตากรรมเดียวกัน

โครงการปลุกเร้าจิตสำนึกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้วยการพานักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน และครูอาจารย์ ล่องเรือไปยังขั้วโลกเหนือ
ให้รับรู้ว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ
และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างไรบ้าง
ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยม
ในการใช้บทบาทหน้าที่ของตนเองส่งผ่านเรื่องราวไปยังคนรอบข้าง

Mr.Quentin Cooper หนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์สุดเจ๋งจากการร่วมเดินทางไปยังขั้วโลกเหนือเล่าโน่นเล่านี่ให้ฟังมากมาย
เรารับรู้มาก่อนหน้านี้แล้วว่า การเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิชั้นบรรยากาศโลก
กำลังทำให้หมีขั้วโลกตัวโตที่มีขนขาวหนาต้องเดือดร้อน
แน่นอนว่า…การเพิ่มสูงขึ้นนี้เป็นผลพวงจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

หมีขาวใช้ชีวิตอยู่ที่ขั้วโลกเหนืออย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่า…
พื้นที่หากินของมันหดแคบลง โลกที่ร้อนขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยธรรมชาติแล้วพวกมันไม่สามารถว่ายน้ำได้ต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน
จึงจำเป็นต้องแวะพักเหนื่อยตามแผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่กระจัดกระจาย
แผ่นน้ำแข็งที่เหลือน้อย ทำให้พวกมันใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก
…ถ้าแผ่นน้ำแข็งละลายหมดเกลี้ยง หมีขาวจะอยู่รอดได้อย่างไร…

แต่ข้อมูลใหม่ที่เราเพิ่งรู้จากปากของ Mr. Cooper ก็คือ
ขยะจำพวกพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล มันแตกสลายเป็นละอองพลาสติกตามวันเวลา
และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ส่งต่อไปยังนักล่าที่ยืนอยู่บนสุดของพีระมิด
ปลาตัวเล็ก—> ปลาตัวใหญ่—> สิงโตทะเล แมวน้ำ—> หมีขาว
หมีขาวรับสารแปลกปลอมอย่างพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านการกินตามลำดับขั้น
กระทั่งทำให้หมีขาวจำนวนไม่น้อยมีสองเพศในตัวเดียว!!!


บางห้วงจังหวะที่จับใจความจากภาษาต่างด้าวไม่ได้
เราครุ่นคิดถึงคาราวานเพนกวินที่ขั้วโลกใต้
พวกมันก็โดนสภาวะโลกร้อนเล่นงานหนักไม่แพ้หมีขาว
ใครที่ดูรายการปฐพีชีวิตทางช่อง ๙ เมื่อปลายเดือนมกราคม
หรือเคยชมภาพยนตร์สารคดี “The March of Penguins”
ที่มีนกเพนกวินจักรพรรดินับร้อยนับพันเป็นนักแสดง
คงพอนึกออกถึงการอยู่รอดในสภาพอากาศที่โหดร้าย
(ถ้ายังไม่ได้ดู และอยากหา DVD เรื่องนี้มาดูด้วยตนเอง ขอให้หยุดอ่านที่บรรทัดนี้
เพราะข้อเขียนส่วนต่อไปมีการเปิดเผยถึงเนื้อหาของภาพยนตร์)

เพนกวินจักรพรรดิเป็นสายพันธุ์เพนกวินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
แต่ตัวโตไม่ได้หมายความว่าจะอยู่รอดในธรรมชาติได้ง่ายดาย
ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง พวกมันต้องฝ่าฟันอุปสรรคยากเข็ญนานัปการ

เรื่องราวธรรมชาตินี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาเป็นเวลาหลายพันปี
แต่มนุษย์เพิ่งค้นพบความอัศจรรย์นี้เมื่อต้นศตวรษที่ ๒๐
และภาพยนตร์ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๖ ปีที่แล้วก็ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่มีส่วนผสมของความรัก ความน่าทึ่ง กำลังใจ ความกล้าหาญ และการผจญภัยของเหล่าพ่อแม่เพนกวินได้อย่างลงตัว
โดยให้ทีมงานถ่ายทำ ๔ คนเข้าไปฝังตัวอยู่ที่แอนตาร์กติกนาน ๑๔ เดือน !!!

เมื่อฤดูร้อนสิ้นสุดลงและฤดูหนาวกำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์
เพนกวินจักพรรดิจากทุกสารทิศจะว่ายน้ำมายังขั้วโลกใต้…บ้านเกิดของพวกมัน…
ต้นเดือนมีนาคม สัญชาตญาณสั่งให้พวกมันละทิ้งทะเล
และพุ่งตัวผ่านรอยแยกของน้ำแข็งขึ้นมาเพื่อออกเดินทางครั้งใหญ่
จากสุดขอบทะเลน้ำแข็งเข้าสู่แผ่นดินตอนใน หรือ “โอเอม็อก” (Oamok)
–ดินแดนที่เหมาะต่อการผสมพันธุ์–
ฤดูหนาวที่นั่นอุณหภูมิลดต่ำเสียจนไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นใดเข้ามารบกวนการฟักไข่
อีกทั้งพื้นน้ำแข็งก็หนาพอที่จะไม่แยกเป็นส่วนๆ ในวันเริ่มต้นของฤดูร้อนซึ่งลูกเพนกวินยังเล็กอยู่

คาราวานเพนกวินเดินบ้าง ไถตัวไปบนพื้นน้ำแข็งบ้าง รวมระยะทางกว่า ๒๐๐ กิโลเมตร
แต่ละย่างก้าวเล็กๆ มุ่งสู่สมรภูมิที่ต้องต่อสู้กับความหนาวระดับ -๖๕ องศาเซลเซียส
ด้วยเหตุที่ภูมิประเทศขาวโพลนกว้างโล่งไม่มีตำแหน่งอ้างอิงใดๆ
ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว จึงเป็นเข็มทิศสำคัญสำหรับสัตว์ปีกหุ่นอ้วนกลม
แม้เนินน้ำแข็งจะเปลี่ยนแปลงทุกปี พวกมันยังสามารถเดินไปถึงจุดหมายเดิมได้อย่างแม่นยำ

หลังจากฝูงเพนกวินรวมตัวพร้อมหน้า มันจะเปล่งเสียงร้องหาคู่
เมื่อเจอแล้วเพนกวินสองตัวจะยืนนิ่งอยู่เคียงกัน
น่าแปลกว่าท่ามกลางการเปล่งเสียงอันอลหม่านนั้น
เพนกวินสามารถจดจำเสียงของคู่ตัวเองได้ถูกต้อง

และเนื่องจากจำนวนเพนกวินตัวผู้นั้นน้อยกว่าตัวเมีย
ช่วงแรกของการจับคู่จึงเกิดศึกชิงหนุ่มบ้าง
แต่สุดท้ายแล้วตัวเมียที่ไร้คู่จะต้องเดินกลับไปสู่ทะเล
ไม่มีประโยชน์ที่จะสู้กับฤดูหนาวอันโหดร้ายโดยไม่มีชีวิตของเพนกวินน้อยเป็นสิ่งตอบแทน

ค่ำคืนฮันนีมูนผ่านไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม
แม่เพนกวินจะออกไข่เพียง ๑ ฟอง และซ่อนมันไว้ในช่องว่างใต้พุง
–กระเป๋าหน้าท้องที่คอยสร้างความอบอุ่นให้ไข่—
นาฬิกาของชีวิตใหม่เริ่มต้นแล้ว

ความระทึกใจมาถึงเมื่อแม่เพนกวินต้องส่งมอบไข่ให้พ่อเพนกวินรับผิดชอบ
มันไม่มีนิ้วที่จะหยิบจับได้อย่างง่ายดาย ฟองไข่ก็แสนบอบบาง พื้นน้ำแข็งก็ไม่ราบเรียบ
อีกทั้งความหนาวเย็นยังคอยจ้องปลิดชีวิตน้อยๆ ขั้นตอนนี้จึงต้องรวดเร็วและแม่นยำ
แม่เพนกวินปล่อยไข่ลงบนพื้นพร้อมกับเดินถอยห่างออกมา
พ่อเพนกวินต้องใช้จงอยปากดันไข่ให้ขึ้นมาอยู่บนหลังเท้าของตน
ช้าแม้เพียงเสี้ยวนาทีอุณหภูมิพื้นน้ำแข็งจะถ่ายทอดสู่ไข่จนแข็งตัวและแตกร้าว

หลังการส่งมอบไข่ แม่เพนกวินจะมุ่งหน้าสู่ทะเล
ใช้เวลา ๒-๓ สัปดาห์ในการเพิ่มพลังงานให้ตนเองและกักตุนอาหารมาป้อนลูกน้อย
ขณะที่พ่อเพนกวินต้องยืนรักษาไข่ไว้ใต้พุงเหนือหลังเท้าประมาณ ๖๐ วันจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว
ที่ยากกว่านั้นคือทุกตัวต้องร่วมกันฝ่าพายุหิมะที่ร้ายกาจไปให้ได้พร้อมกับรักษาชีวิตน้อยๆ
พวกมันยืนเบียดต้านทานลมที่พัดแรงเร็วประมาณ ๑๖๑-๒๔๑ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แม่ที่กินอิ่มต้องรีบเดินทางกลับมายังโอเอม็อกภายใน ๔๘ ชั่วโมงหลังจากที่ลูกเพนกวินเกิด
เจ้าตัวเล็กมีพลังงานสะสมน้อยและอ่อนแอเหลือเกิน
ถ้าช้า…พ่อเพนกวินซึ่งไม่ได้กินอะไรมานานกว่า ๔ เดือนจะทิ้งลูกและเดินกลับไปยังทะเลก่อนที่ตัวเองจะหมดแรง

ในทางกลับกันถ้าแม่เพนกวินมาทันเวลาและพ่อลูกรอดพายุหิมะมาได้อย่างปลอดภัย
เธอจะมีโอกาสป้อนอาหารมื้อแรกและปล่อยให้พ่อเดินไปสู่ทะเลบ้าง
สลับกันออกไปหาอาหารมาเลี้ยงลูก
จนถึงเวลาที่เจ้าตัวเล็กพร้อมจะสัมผัสน้ำทะเลแรกของชีวิตในช่วงฤดูร้อน
เมื่อถึงวันนั้นพ่อและแม่เพนกวินจะแยกจากกัน
เพื่อรอการสืบทอดสายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นอีกในฤดูหนาวครั้งต่อไป

ส่วนลูกๆ รวมฝูงกันลงทะเลเพื่อเผชิญโลกใหม่ที่น่าตื่นเต้น
อีก ๔ ปีข้างหน้าลูกเพนกวินจะโตเต็มวัยและกลับมาปฏิบัติภารกิจอย่างที่พ่อแม่ของมันทำ

ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทำให้น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเร็วกว่าปกติ
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ลูกเพนกวินจักรพรรดิจำนวนมากต้องจบชีวิตลง
เพราะยังไม่โตพอที่จะว่ายออกสู่ทะเลในฤดูร้อนที่มาถึงก่อนกำหนด

โศกนาฏกรรมแบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามนุษย์ยังไม่ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง
…ลำพังการสร้างชีวิตใหม่ของเพนกวินจักรพรรดิก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว
คุณยังจะใจร้ายซ้ำเติมมันได้ลงคอเชียวหรือ…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น