วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

แพนด้ายักษ์ หมีที่น่ารักที่สุดในโลก แล้วรู้ไหม ทำไมมันถึงมีสีดำ-ขาว

ในบันทึกโบราณอายุกว่าสามพันปีของจีนโบราณ ระบุว่ามีสัตว์ป่าชนิดหนึ่ง นิสัยรักสงบ หน้าแป้น ขนขาว มีสีดำสนิทเฉพาะส่วนใบหู เบ้าตา แขน ขา ในชื่อ "พี๋ซิ่ว" แปลว่า "หนังสัตว์ ที่มีแขน" แต่ทั่วไปรู้จักกันในชื่อ "โสวฺงมาว" แปลว่า "หมีแมว" หรือ "มาวโสวฺง" แปลว่า "แมวหมี" และมีตำนานเกี่ยวกับพื้นที่ที่มันอาศัยแถบเฉิงตู จิวไจ้โกว มณฑลเสฉวน

ในตำนานของชาว "เชียง" ที่ตั้งรกรากอยู่ตามหุบเขาภาคตะวันตก เล่ากันมาตั้งแต่เมื่อสองพันกว่าปีก่อนว่า " ในหุบเขาท่ามกลางป่าปลายเทือกเขาโฉลฺงไหล มีคนเลี้ยงแกะอาศัยอยู่ครอบครัวหนึ่ง ลูกสาวสี่คนของครอบครัวนี้ นอกจากรูปโฉมงามแล้ว จิตใจยังเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปราณี รักต้นไม้ ภูเขา รวมถึงสัตว์ป่านานาชนิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องสาวคนสุดท้องมีความเอ็๋นดูโสวฺงมาวเป็นพิเศษ ทุกครั้งที่เธอต้อนฝูงแกะเข้าไปเลี้ยงตามทุ่งในหุบเขา หมีแพนด้าจึงมักออกมาเล่นเป็นเพื่อนอยู่เสมอ จนบางครั้งมองดูกลมกลืนไปกับฝูงแกะเพราะกาลครั้งนั้นโสวฺงมาวเป็นสัตว์ที่มีขนสีขาวปลอดตลอดทั้งตัว

กระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่หมีแพนด้ากำลังเพลิดเพลินอยู่กับการกินใบไผ่ก็ปรากฏร่างนายพรานซุ่มตัวอยู่ในดงและขึ้นธนูหมายยิงมาถึงตัว แต่ก่อนที่ศรจะยิงมาถึงตัว น้องสาวคนสุดท้องผ่านมาพบเหตุการณ์จึงวิ่งเข้าขวางแล้วโดนลูกธนูนั้นยิงแทน

พอพี่สาวทั้งสามคนได้ข่าวว่าน้องสาวถูกธนูยิงตายจึงตรอมใจตายตาม โสวฺงมาวจากทุกแห่งหนต่างเดินทางมาร่วมงานเผาศพที่ชาวบ้านจัดให้สีสาวตามประเพณี แม้งานจะผ่านไปหลายวันแต่บรรดาหมีแพนด้าก็ยังห้อมล้อมกอดกองเถ้าถ่านจนแขนขาเปื้อนเป็นสีดำ มือที่เปื้อนเถ้ายกขึ้นเช็ดน้ำตาก็ทำให้ขอบตาดำไปด้วย พอยกมือขึ้นปิดหูเพราะทนเสียงร้องไห้ไม่ได้ ก็ทำให้สีดำติดใบหูไปอีก นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา แพนด้าจึงมีใบหู เบ้าตา แขน ขา เป็นสีดำสนิท ส่วนสถานที่ที่เผาศพหญิงสาวทั้งสี่ก็พลันเกิดยอดเขาขึ้นสี่ยอด เรีกยขานกันว่า "ซื่อกูเหนียงซาน" หรือ "ยอดเขาสี่ดรุณี"

แต่กว่าชาวโลกจะรู้จักหมีชนิดนี้ก็ล่วงเข้าไปถึงปีพ.ศ. ๒๔๑๒ เมื่อ ปิแอร์ อาร์มัน เดวิด หมอสอนศาสนาชาวฝรั่งเศส เขาได้เดินทางจากกรุงเป่ยจิงไปเมืองเฉิงตู และได้พบหนังสัตว์ผืนหนึ่ง ที่มีสีขาวทั่วทั้งผืน ยกเว้นแต่ส่วนแขน ขาที่เป็นสีดำ และเขายังได้พบซากสัตว์ชนิดนี้อีก และเชื่อกันว่าเขาจ้างนายพรานในแถบนี้ให้จับสัตว์ชนิดนี้มาให้ ซึ่งเขาเชื่อว่ามันเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ในสกุลของ "หมี"

ปิแอร์ อารมัน เดวิด ได้ส่งซากตัวอย่างพร้อมกระดูก กะโหลก กลับไปพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติในกรุงปารีส และใน พ.ศ. ๒๔๑๓ อ้ัลฟองเซ มิเลเน เอ็ดเวิร์ดส์ ได้ทำการทดสอบซากโสวฺงมาวแล้วพบว่า แม้จะมีสรีระภายนอกคล้ายหมี แต่อวัยวะภายในแตกต่างจากหมีโดยสิ้นเชิง แต่คล้ายแพนด้าแดง (Red Panda) มากกว่า เขาจึงสรุปชื่อของแพนด้าว่า Ailuropoda melanoleuca เอลูโรโพด้า เมลาโนลูคา ซึ่งหมายถึง "สัตว์อุ้งเท้าขาว-ดำ คล้ายแพนด้า" และเรียกชื่ออังกฤษว่า "แพนด้ายักษ์" (Gigant Panda)

ในช่วงแรกๆ ชาวตะวันตกรู้จักแพนด้าด้วยการที่มีนายพราน แอบลักลอบนำสัตว์ชนิดนี้ออกจากจีนไปเร่แสดงในละครสัตว์ แล้วจับส่งสวนสัตว์โดยผิดกฏหมาย โดยเฉพาะในช่วงที่จีนอยู่ในยุคระส่ำระสายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้ต่อมาเมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ยังมีการลักลอบจับแพนด้าอยู่ รวมถึงป่าที่อยู่อาศัยหายไป จึงทำให้แพนด้าลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก




ปัจจุบันจีนใช้แพนด้าเป็นเสมือนฑูตสันถวไมตรี และได้ส่งแพนด้าไปอยู่ตามสวนสัตว์ต่างๆ ทั่วโลก แต่ก็มีจำนวนน้อยไม่ถึง ๔๐ ตัวทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีแพนด้าถึงสองตัว ทั้งยังให้กำเนิดแพนด้าน้อยขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้ด้วย โดยหลังจากจัดการประกวดตั้งชื่อและให้ประชาชนร่วมโหวต หมีแพนด้าน้อยที่เกิดขึ้นจากการผสมเทียมในเมืองไทย จึงได้ชื่อว่า "หลินปิง" ซึ่งคำว่า "หลิน"มาจากชื่อแม่ "หลินฮุ่ย" ส่วน "ปิง" มาจากแม่น้ำปิง แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านจ. เชียงใหม่ นั่นเอง




แพนด้า (Giant Panda / Ailuropoda melanoleuca)




หมีแพนด้า มีขนบนลำตัวส่วนใหญ่เป็นสีขาว เว้นแต่บริเวณรอบดวงตา จมูก หู ขาหน้าจนถึงไหล่ ขาหลังและเท้า เป็นสีดำ แม้ว่ามันจะมีระบบย่อยอาหารแบบสัตว์กินเนื้อ แต่ได้วิวัฒนาการมาเป็นสัตว์กินพืช โดยกินใบไผ่และลำไผ่เป็นอาหาร และเพราะไผ่มีสารอาหารน้อย มันจึงต้องกินไผ่วันละ ๑๒-๑๕กิโล ใช้เวลากินถึง ๑๔ ชั่วโมงต่อวัน




ครั้งหนึ่งเคยพบแพนด้าได้ทั่วไปทางตอนใต้และตะวันออกของประเทศจีน พม่า และเวียดนาม แต่ปัจจุบัน เหลือแพนต้าอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ พันตัวเท่านั้น และทั้งหมดพบอยู่เฉพาะป่าไผ่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน




แพนด้าอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เพราะป่าไผ่อันเป็นที่อยู่อาศัยของมันถูกทำลาย ปัจจุบันมีแพนด้าเหลือรอดเฉพาะในเขตอนุรักษ์ ๑๓ แห่ง ในพื้นที่ ๖,๐๙๙ ตารางกิโลเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น